วันที่ 14 มกราคม 2566 พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์, ศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสันติศึกษา เป็นประธานที่ประชุมยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับ มจร คณะกรรมการบริหารศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน และคณาจารย์เจ้าหน้าที่หลักสูตรศึกษา มจร เพื่อเตรียมการพัฒนามาตรฐานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน
.
เปิดเผยว่า นายอำนาจ ผู้อำนวยการศูนย์ยุติธรรมชุมชน ที่เป็นผู้ใหญ่บ้านหัวคลอง ตำบลลำไทร ย้ำในหลายเวทีว่า มหาจุฬาฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย ซึ่งทำให้ชุมชนที่อาศัยอยู่รายล้อม มจร ทั้งชุมชนชาวพุทธ และชุมชนพี่น้องมุสลิม มุ่งหวังที่จะได้รับประโยชน์จากการดำรงอยู่ของ มจร
.
ความมุ่งหวังของผู้ใหญ่อำนาจสอดรับกับ ดร.มยุรี แจ่มจำรัส ยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มุ่งหวังจะบูรณาการและนำงานที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมของกระทรวงฯ ลงสู่ศูนย์ไกล่เกลี่ย โดยปรับบทบาทและขยายศูนย์ไกล่เกลี่ย มจร เป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยลำไทร โดยดึงองคพยพภาคประชาชนมาร่วมขับเคลื่อนศูนย์
.
ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการเร่งพัฒนาโครงสร้าง การบริหาร และการบริการศูนย์ไกล่เกลี่ย มจร ให้เข้าถึงชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยการประชาสัมพันธ์ และกระตุ้นเตือนให้ชาวลำไทร และชุมชนใกล้เคียงมาใช้ประโยชน์ และเข้าถึงความยุติธรรมที่รัฐพยายามสนองตอบชุมชน
.
หลังจากนั้น จะนำไปสู่การขยายต้นแบบศูนย์ไกล่เกลี่ยในเชิงคุณภาพ ไปสู่การจัดตั้งศูนย์ในเชิงปริมาณให้ครบทั้ง 10 ตำบลในเขตอำเภอวังน้อย ฉะนั้น โจทย์ที่ยากคือทำอย่างไร จึงจะทำให้ 10 ตำบลในอำเภอวังน้อยเห็นความสำคัญจนเกิดแรงจูงใจร่วมแรงร่วมใจจัดตั้งศูนย์ เพื่ออำนวยความยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ นอกเหนือจากการไกล่เกลี่ย
.
หลักสูตรสันติศึกษา มจร จึงมุ่งหวังพัฒนาตำบลลำไทร หรือลำไทรโมเดลให้เป็น Peace Lab โดยใช้งานวิจัยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Research) กระตุ้นนิสิตลงพื้นที่ทำวิจัย รวมถึงสนับสนุนทุนวิจัยให้ชุมชนเข้ามาร่วมเป็นนักวิจัยร่วม เพื่อมุ่งพัฒนาชุมชนให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืนต่อไป
Comments