top of page
Writer's picturepeace mcu

ความยุติธรรมในมุมมองของพุทธศาสตร์

ความยุติธรรมในมุมมองของพุทธศาสตร์ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. (2555)
โครงการปริญญาโท หลักสูตรสันติศึกษา


เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมารับนิมนต์จาก ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (NIDA) ไปปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความยุติธรรมในมุมมองของพุทธศาสตร์” การจัดงานวันนี้เป็นการจัดงานเนื่องในวันเกิดครบ ๒ ขวบคณะนิติศาสตร์ โดยมี ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส พร้อมด้วยคณาจารย์ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาร่วมฟังกว่า ๑๐๐ ท่าน เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงวิชาการต่อไป จึงถือโอกาสนี้สรุป และนำเสนอเป็นบทความสั้น ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

บทนำ

ความยุติธรรมเป็นตัวแปรสำคัญประการหนึ่งในการที่จะเชื่อมสมานกลุ่มคน หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข แต่เมื่อใดก็ตามที่สังคมตั้งคำถาม หรือสงสัยต่อความยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการให้คำนิยาม หรือความหมายต่อความยุติธรรม และการนำความยุติธรรมไปใช้ในมิติต่างๆ เช่น ความยุติธรรม ทางเศรษฐกิจ การเมือง เมื่อนั้น สถานการณ์ความไม่วางวางใจ (Trust) ความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันมักจะเกิดการติดขัด และผลกระทบที่จะเกิดตามมาคือ ความสัมพันธ์ (Relationship) ที่ไม่ลงรอยกันระหว่างกันคนต่างๆ ในสังคม ดังที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้ย้ำเตือนในประเด็นนี้ว่า“หากสังคมไร้ซึ่งความยุติธรรมจะก่อให้เกิดความทุกข์ ความขัดแย้ง การเสียกำลังใจ และนำไปสู่วิกฤติด้านต่าง ๆ รวมทั้งวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่เรากำลังเผชิญอยู่ ฉะนั้น ความยุติธรรมในสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่เท่าที่ผ่านมา สังคมไทยยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยเกินไป หลักฐานประการหนึ่งที่สามารถยืนยันบทสรุปของ ศ.นพ.ประเวศ วะสีชี้ว่า เท่าที่ผ่านมา สังคมไทยยังให้ความสำคัญกับความยุติธรรมน้อยเกินไปนั้น เราอาจจะประเมินได้จากตัวเลขล่าสุดที่โครงการยุติธรรมโลก (The World Justice Project) ได้ จัดอันดับให้ไทยอยู่ในอันดับที่ ๘๐ จาก ๙๗ประเทศ ที่เสริมสร้างความยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ตามรายงานดัชนีหลักนิติธรรม ๒๐๑๒ (Rule of Law Index 2012) จะเห็นว่า ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่าน กลุ่มคนต่างๆ มักจะตั้งคำถามต่อความยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ ความยุติธรรมทางกฎหมาย และความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งการตั้งคำถามต่อความยุติธรรมนั้น มักจะสัมพันธ์กับ “คน” ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม แต่ผู้เขียนมองว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คำถามในลักษณะดังกล่าว อาจจะเกิดจากการที่กลุ่มคนต่างๆ ไม่เข้าใจแก่นแท้ของความยุติธรรมอย่างรอบด้าน

บทความนี้ จึงให้ความสนใจต่อประเด็นเกี่ยวกับ “ความหมายที่แท้จริงของความยุติธรรม” เพราะส่วนตัวมีสมมติฐานว่า “การที่กลุ่มคนเข้าใจ หรือมีมโนทัศน์เกี่ยวกับความยุติธรรมที่แตกต่างกัน ย่อมนำไปสู่การวางท่าที และการปฏิบัติที่แตกต่างกันเช่นเดียวกัน” หากเป็นเช่นนั้น ย่อมเป็นเรื่องง่ายที่จะทำให้กลุ่มคนต่างๆ เกิดความขัดแย้ง และนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด


ความยุติธรรม: อะไร และอย่างไร

กลุ่มนักคิดตะวันตกมักจะให้ความหมายเกี่ยวกับความยุติธรรมค่อนข้างจะคล้ายคลึงกันว่า “Justice is a concept of moral rightness based on ethics, rationality, law, natural law, religion or equity.” แปลว่า “ยุติธรรมเป็นแนวคิดที่เกี่ยวกับความถูกต้องทางศีลธรรม ที่สัมพันธ์จริยธรรม เหตุผล กฎหมาย กฎธรรมชาติ ศาสนา และความเสมอภาค

ความยุติธรรมซึ่งเป็นความถูกต้องทางศีลธรรมในบริบทนี้ อาจจะอธิบายได้ ๒ ความหมายหลัก คือ ความถูกต้องของการอยู่ร่วมกันในสังคมของกลุ่มคนต่างๆ อย่างเสมอภาค และการการอยู่ร่วมกันดังกล่าวจะต้องสอดรับกับเหตุผล และความเป็นจริงตามหลักศีลธรรม และจริยธรรมทางศาสนา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสอดรับกับกฎธรรมชาติ ในอีกมิติหนึ่ง ความยุติธรรมจำเป็นต้องอยู่บนฐานของศีลธรรม ซึ่งศีลธรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสอดรับกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มิฉะนั้น สังคมมนุษย์จะไม่สามารถหาหลักอ้างอิงว่า จะเทียบเคียงกับกฎเกณฑ์อันใด เพราะมนุษย์แต่ละคนล้วนมีแง่มุมหรือการนิยามที่แตกต่างกันตามประสบการณ์ และมุมมองของตัวเอง

เมื่อวิเคราะห์แง่มุมความหมายของ “ความยุติธรรม” ในบริบทของสังคมไทย ราชบัณฑิตสถานได้คำจำกัดความว่า “น. ความเที่ยงธรรม, ความชอบธรรม, ความชอบด้วยเหตุผล ว. ความเที่ยงธรรม, ความไม่เอนเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง, ชอบด้วยเหตุผล” คำถามมีว่า ราชบัณฑิตยสถานได้ใช้ฐานคิดอะไร จึงนำไปสู่การแปลคำว่า “Justice” ออกมาเป็นความหมายในลักษณะดังกล่าว แต่จากการวิเคราะห์รูปศัพท์โดยละเอียดแล้ว ทำให้พบประเด็นคำตอบที่น่าสนใจว่า “พื้นฐานสำคัญของการแปลดังกล่าวนั้น ราชบัณฑิตยสถานได้นำคำศัพท์ของพระพุทธศาสนามาเป็นกรอบในการให้คำจำกัดความและอธิบายความ” ดังจะอธิบาย และนำเสนอเหตุผลโดยละเอียดในข้อถัดไป


ความยุติธรรมในพระพุทธศาสนา

“ความยุติธรรม” ในมุมมองของพระพุทธศาสนาจัดได้ว่าเป็น “คุณธรรม” ประการหนึ่งที่สัมพันธ์กับประเด็นเรื่อง “อารมณ์” (Emotion) เมื่อนำคำว่า “Justice” ซึ่งราชบัณฑิตแปลเป็นภาษาไทยว่า “ยุติธรรม” ไปเทียบเคียงกับคำศัพท์ในภาษาบาลี จะพบประเด็นที่น่าสนใจว่า โดยศัพท์นั้น ไม่มีคำว่ายุติธรรมปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาแบบตรงตัว คำถามมีว่า “พระพุทธศาสนาไม่ได้ให้ความสนใจ และใส่ใจต่อความยุติธรรมใช่หรือไม่? จึงไม่ได้บัญญัติคำศัพท์เหล่านี้เอาไว้ในคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา

อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์คำว่า “ยุติธรรม” แบบแยกศัพท์เป็น “ยุติกับธรรม” จะพบว่า ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาได้อธิบายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ยุติ” มาจากคำว่า “ยุตติ” ในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า “ชอบ” หากนำไปผสมกับคำว่า “ยุติธรรม” สามารถแปลได้ว่า “ความชอบธรรม” ในขณะเดียวกัน ยุตติตามที่ปรากฏในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินีนั้น แปลว่า “ข้อสรุป หรือข้อตกลง” หมายถึง “สิ่งที่นำไปสู่ข้อสรุป และข้อตกลง” หรือ “ข้อข้อสรุป หรือข้อตกลงที่เป็นธรรม หรือโดยชอบ” จะเห็นว่า “ยุติ” แต่ละแห่งมีนัยที่ครอบคลุมถึงความหมายที่ “เลิกแล้วต่อกัน” หรือ “จบถ้วนกระบวนความ” ดังนั้น คำว่า “ยุติธรรม” สามารถแปลว่าได้ว่า “ธรรมที่นำไปสู่ข้อสรุป หรือข้อตกลง ซึ่งจะก่อให้เกิดบรรยากาศของการเลิกแล้วต่อกัน หรือจบถ้วนกระบวนความ” หรืออาจจะแปลโดยความว่า “การตกลงโดยอาศัยธรรม หรือยุติโดยอิงอาศัยธรรม” แนวทางนี้สอดรับกับหลักการในอัคคัญสูตรที่มหาชนพากันเรียกขานผู้ที่ทำหน้าที่โดยการสร้างความพอใจให้แก่ประชาชนโดยธรรมว่า “ราชา” ซึ่งการสร้างความพอใจตามหลักทศพิธราชธรรมข้อที่ ๑๐ นั้น มีนัยที่ชี้ไปถึงการตัดสิน และแบ่งปันผลประโยชน์แก่กลุ่มคนต่างๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเที่ยงธรรมโดยปราศจากอคติ

สรุปแล้ว “ความยุติธรรม” ในโลกทัศน์ของพระพุทธศาสนาจะสามารถเทียบเคียงคำว่ายุติธรรมใน ๒ ความหมายใหญ่ๆ คือ

(๑) ยุติธรรมในความหมายของวินัย หมายถึง “ความชอบธรรม” หรือ “ประกอบด้วยธรรม” บาลีใช้คำว่า “ธัมมิกะ” โดยในวินัยกล่าวถึงประเด็นนี้เอาไว้ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินหลักอธิกรณ์ หรือความขัดแย้ง โดยให้ใช้วิธีการที่ชอบธรรม หรือวิธีเป็นธรรมแก่คู่กรณี โดยผู้ตัดสินต้องเป็นบุคคลที่เป็นธรรม หรือชอบธรรม (ธัมมิกบุคคล) คำนี้ จะสอดรับกับคำว่า “Rightness” ในภาษาอังกฤษมากที่สุด เพราะหากจะเทียบเคียงแล้ว วินัยของพระภิกษุมีลักษณะเดียวกันกับกฎหมายที่ใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติของบุคคลทั่วไปในสังคม

(๒) ยุติธรรมในความหมายของพระสูตร หมายถึง “ความเที่ยงธรรม” หรือ “ความไม่คลาดเคลื่อนจากธรรม” (อวิโรธนะ) ซึ่งเป็นทศพิธราชธรรมข้อที่ ๑๐ โดยหลักธรรมชุดนี้เป็นหลักการสำคัญสำหรับนักปกครองที่มีหน้าที่สำคัญในการทำให้บุคคลอื่น หรือผู้ใต้ปกครองพึงพอใจ (ราชา) ความเที่ยงธรรมในบริบทนี้ หมายถึง ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง ไม่เอนเอียงหวั่นไหวด้วยคำพูด อารมณ์ หรือลาภสักการะใดๆ ด้วยความอคติ จะเห็นว่า การขาดความยุติธรรม หรือเที่ยงธรรมเป็นผลอันเนื่องมาจากสภาพจิตของบุคคลใดบุคคลหนึ่งคลาดเคลื่อนจากธรรม คือ เที่ยงธรรมด้วยอิทธิพลของอคติ ยิ่งเข้าใกล้ความยุติธรรมตามกฎธรรมชาติ ยิ่งใกล้ความยุติธรรมตามกฎเกณฑ์สังคม

จากการให้คำจำกัดความในลักษณะดังกล่าว คำว่า “ยุติธรรม” ในความหมายของพระพุทธศาสนาจึงหมายถึง “ความชอบธรรม และความเที่ยงธรรม” แต่การจัดวางคำว่า “เที่ยงธรรม” เอาไว้เป็นเบื้องต้นนั้น หากมองในเชิงสังคมวิทยา ความเที่ยงธรรมเป็นตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่ความชอบธรรม หรือข้อตกลงที่เป็นธรรมของกลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข

ถึงกระนั้น ความยุติธรรมกินความได้สองความหมาย คือ “ความยุติธรรมตามกฎเกณฑ์ทางสังคม” กับ “ยุติธรรมตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ” ซึ่งความยุติธรรมตามกฎเกณฑ์ของสังคมเป็นระเบียบหรือกฎเกณฑ์ที่มนุษย์ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในฐานะเป็นสัตว์สังคมได้สร้างขึ้นโดยการเห็นพ้องต้องกัน อาจจะเป็นการประนีประนอมผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มคนที่มีอำนาจ หรือการมีฉันทามติร่วมกันของคนกลุ่มใหญ่ก็ตาม ซึ่งการออกแบบกฎเกณฑ์ดังกล่าว อาจจะสอดรับกับวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม ลัทธิ และศาสนา

ในขณะที่ความยุติธรรมตามกฎเกณฑ์ธรรมชาตินั้น เป็นความยุติธรรมที่สอดรับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ (Natural Law) ซึ่งพระพุทธศาสนาเรียกกฎธรรมชาตินี้ว่า “นิยาม” โดยแบ่งออกเป็น ๕ ประการ คือ

๑. อุตุนิยาม (Physical Laws) คือ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุม ความเป็นไปของปรากฏการณ์ในธรรมชาติ เกี่ยวกับวัตถุที่ไม่มีชีวิตทุกชนิด เช่น ปรากฏการณ์ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แม้กระทั่งการเกิดและการดับสลายของโลกก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติข้อนี้ ๒. พีชนิยาม (Biological Laws) คือ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ กฎธรรมชาตินี้ เมื่อเรานำเมล็ดข้าวเปลือกไปเพาะ ต้นไม้ที่งอกออกมาจะต้องเป็นต้นข้าวเสมอ หรือ ช้างเมื่อคลอดลูกออกมาแล้วก็ย่อมเป็นลูกช้างเสมอ ความเป็นระเบียบนี้พุทธศาสนาเชื่อว่าเป็นผลมาจากการควบคุมของพีชนิยาม ๓. จิตนิยาม (Psychic Laws) คือ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับกลไกการทำงานของจิต จิตจึงมีกฎเกณฑ์ในการทำงาน เปลี่ยนแปลงและแสดงพฤติกรรม เป็นแบบฉบับเฉพาะตัว ทั้งนี้สุขทุกข์ ดีชั่วของบุคคลใดบุคคลหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับการปรุงแต่งของจิต ๔. กรรมนิยาม (Kamic Laws) คือ กฎการให้ผลของกรรม กรรมคือ การกระทำที่ประกอบด้วยความตั้งใจ แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ กรรมดีและกรรมชั่ว กรรมดีย่อมตอบสนองในทางดี กรรมชั่วย่อมตอบสนองในทางชั่ว นี่คือ กฎแห่งกรรมนั่นเอง ๕. ธรรมนิยาม (General Laws) คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งทั้งหลาย เป็นกฎสากลที่ครอบคลุม ความเป็นไปทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ กฎข้อนี้มีขอบเขตครอบคลุมกว้างขวางที่สุด กฎ ๔ ข้อข้างต้นสรุปรวมลงในข้อสุดท้ายนี้

จะเห็นว่า ความยุติธรรมตามกฎธรรมชาติจึงไม่ได้อยู่กับตัวแปรที่บุคคล หรือสังคมกำหนดขึ้นมา หากแต่เป็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัยตามหลักของอิทัปปัจจยตาที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด” กลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขในสังคมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกแบบระเบียบหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้สอดรับ หรือใกล้เคียงกับกฎธรรมชาติให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสามารถดำเนินการออกแบบให้ประสานสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติ ย่อมสามารถเป็นหลักประกันถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข อย่างไรก็ดี มนุษย์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ และเข้าใจความยุติธรรมตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติอย่างลึกซึ้งเพื่อจะได้ออกแบบความยุติธรรมตามกฎเกณฑ์ของสังคมให้มีระบบ และกลไกที่ประสมกลมกลืนกันมากยิ่งขึ้น

ความยุติธรรมไม่เกิด ถ้าเปิดโอกาสให้อคติ

ตัวแปรสำคัญที่ทำให้มนุษย์สูญเสีย “ความเที่ยงธรรมจนกลายเป็นความเที่ยงเทียม” คือ “อคติ” เพราะอคติจะทำให้สภาพจิตของมนุษย์ไม่เที่ยงแท้เพราะคลาดเคลื่อนไปจากธรรมจนนำไปสู่ความเอนเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ในพระพุทธศาสนาในแบ่งประเภทของอคติไว้เป็น ๔ ประการ คือ

๑. ฉันทาคติ (Prejudice caused by love or desire; partiality) ความละเอียงเพราะความความชอบ และรักใคร่ หมายถึง การทำให้เสียความยุติธรรม เพราะอ้างเอาความรักใคร่หรือความชอบพอกัน ซึ่งมักเกิดกับตนเอง ญาติพี่น้อง และคนสนิทสนม ความเอนเอียงเพราะชอบจะทำให้สูญเสียความเป็นกลาง และไม่สามารถที่จะวางตน และปฏิบัติต่อทุกคนให้เหมาะสมเหมือนๆกัน

๒. โทสาคติ (Prejudice caused by hatred or enmity) ความละเอียงเพราะความ ไม่ชอบ เกลียดชัง หรือโกรธแค้น หมายถึง การทำให้เสียความยุติธรรม เพราะความโกรธ หรือลุอำนาจโทสะ เพราะมีจิตใจที่ไม่หนักแน่น ไม่รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และไม่สามารถแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานออกจากกันได้

๓. โมหาคติ (Prejudice caused by delusion or stupidity) ความละเอียงเพราะความหลงเพราะไม่รู้ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หมายถึง การทำให้เสียความรู้สึกธรรมเพราะความสะเพร่า ความไม่ละเอียดถี่ถ้วน รีบตัดสินใจก่อนพิจารณาให้ดี การไม่เปิดใจให้กว้าง จึงทำให้มองโลกในแง่ร้าย และไม่สามารถยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น

๔. ภยาคติ (Prejudice caused by fear) ความละเอียงเพราะความกลัว หมายถึง การทำให้เสียความยุติธรรม เพราะมีความหวาดกลัว หรือเกรงกลัวภยันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อตนเอง และครอบครัว จึงทำให้ขาดความความกล้าหาญ โดยเฉพาะความกล้าหาญทางจริยธรรม คือ กล้าคิด กล้าพูดในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม

ความลำเอียงทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นตัวแปรสำคัญที่จะปิดกั้นจิตของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในฐานะเป็นสัตว์สังคมคลาดเคลื่อน หรือเบี่ยงเบนไปจากความยุติธรรม หรือเที่ยงธรรม จนทำให้การกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งขาดความชอบธรรม เพราะองค์ธรรมที่ว่าด้วยความยุติธรรม (Justice) จะนำไปสู่ความไว้วางใจซึ่งกันและกันของกลุ่มคนในสังคม (Trust) เมื่อมนุษย์ไว้วางใจเพราะได้รับความยุติธรรมที่พอรับได้ในระปานกลางถึงมากที่สุด ย่อมทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันเป็นไปในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น (Relationship) ดังนั้น ความยุติธรรม ความไว้วางใจ และความสัมพันธ์ จึงเป็นประดุจห่วงโซ่ที่คล้องทั้งการคิด พูด และแสดงออกต่อกันของกลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นสังคม


ยุติธรรมทำไม ทำไมต้องยุติธรรม จากแง่มุมดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า เพราะเหตุใด? พระพุทธเจ้าจึงทรงนำเสนอ หรือออกแบบความเที่ยงธรรมโดยไม่ประสงค์ให้จิตใจของมนุษย์คลาดเคลื่อนจากธรรมเพราะอิทธิพลของอคติ คำตอบที่พอจะตอบได้ในขณะนี้น่าจะมี ๒ ประการ คือ

(๑) มุ่งหวังไม่ให้มนุษย์เอาเปรียบซึ่งกันและกันส่งผลให้สังคมเกิดความสูญเสียดุลยภาพ จนนำไปสู่การไม่เคารพสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคระหว่างกันและกัน หากมองในมุมนี้ ความยุติธรรมจึงไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับเสรีภาพ หรือเสมอภาพ หากแต่เป็นพื้นที่ให้สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพได้สำแดงตัวเองออกมาในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่า หากสังคม หรือบุคคลใดเปิดพื้นที่ให้แก่ความยุติธรรมได้ทำงานเต็มศักยภาพ สังคมนั้นจะเป็นสังคมที่อุดมไปด้วยการเคารพในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ตัวอย่างอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ประเด็นเรื่องการปฏิเสธวรรณะของพระพุทธเจ้า การหยิบยื่นประเด็นเรื่องความเที่ยงธรรม หรือการเปิดพื้นที่ให้มนุษย์ได้พัฒนาตัวเองอย่างไร้ขีดจำกัด จึงทำให้มนุษย์ได้พัฒนาตัวเองอย่างไร้ขีดจำกัด ตั้งแต่แง่มุมเชิงกายภาพไปจนถึงจิตภาพคือการเข้าถึงความจริงสูงสุด หนึ่งในกลุ่มคนที่สามารถพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ดีที่สุดนอกจากสาวกของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาลคือ “ดร.อัมเบการ์” ที่ศรัทธาในคุณค่าของความยุติธรรมจนสามารถแหวกเมฆหมอกของวรรณะ และเพียรพยายามพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นประธานคณะกรรมการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศอินเดียฉบับแรกและฉบับเดียวที่ใช้ในขณะนี้

๒. มุ่งหวังที่จะให้มนุษย์ปฏิบัติต่อการและกันในเชิงบวก ด้วยความรัก เคารพ ให้เกียรติในศักดิ์ศรี และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ให้เหมาะสมกับฐานะของ “ความเป็นผู้ยกระดับจิตใจของตัวเองให้สูงขึ้น” ภายใต้มโนทัศน์ที่ว่า “เรารักความสุข เกลียดกลัวความทุกข์ ฉันใด คนอื่นๆ ก็รักความสุขเกลียดกลัวความทุกข์ ฉันนั้นเหมือนกัน การเข้าใจความจริงเช่นนี้ จะทำให้เราปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยความเป็นธรรม และเที่ยงธรรม หลีกเลี่ยงการคิด พูด หรือแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ส่อแสดงให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่นๆ ด้วยการมุ่งมั่นและใส่ใจที่จะปฏิบัติต่อคนอื่นๆ ในสังคมอย่างเสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรม ตั้งแต่การแบ่งปัน ทรัพยากร ผลประโยชน์ ความต้องการ ไปจนถึงความรักเพื่อนร่วมโลกโดยไม่แบ่งเขาแบ่งเราเพียงเพราะความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และภาษาที่แตกต่าง

สรุปแล้ว เป้าหมายของการนำเสนอหลักการเรื่อง “ความยุติธรรม” ในกรอบของความเที่ยงธรรม และไร้อคตินั้น จะนำไปสู่การสร้างชีวิต และสังคมที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น จึงชอบแล้วที่พระพุทธเจ้าพยายามจะย้ำเตือนว่า “ธรรมนั่นแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราให้ความใส่ใจ และรักษาความยุติธรรม หรือเที่ยงต่อธรรม เมื่อนั้น ความยุติธรรมที่เราเพียรพยายามที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรงนั้นจะทำหน้าที่รักษาชีวิต และสังคมให้เกิดดุลยภาพ และทำให้มนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในฐานะเป็นสัตว์สังคมสามารถอยู่ด้วยกันอย่างไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ไม่หวาดระแวงสงสัย อันจะส่งผลให้เกิดการเชื่อมสมานความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันมากยิ่งขึ้นโดยลำดับทั้งต่อหน้า และลับหลัง ทั้งในโลกนี้ และโลกต่อๆ ไปในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่เกิดแก่ เจ็บ และตายอย่างเสมอภาค เท่าเทียม และเที่ยงธรรม

339 views0 comments

Comments


bottom of page