top of page

สันติศึกษามหาจุฬามุ่งพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยภาคอีสาน

#ก่อนจะฟ้อง

#ไกล่เกลี่ยกันได้แล้ว

#ไม่ต้องลุกชี้หน้าด่ากัน

#สันติศึกษามหาจุฬามุ่งพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยภาคอีสาน

#สนองนโยบายพระธรรมวัชรบัณฑิตอธิการบดีมหาจุฬา

#ป้องกันความขัดแย้งความรุนแรงในชุมชนสังคมหาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธี




๕ พฤษภาคม ๒๕๖๖ พร้อมแล้วสำหรับการพัฒนาและฝึกอบรมผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของท่านพระธรรมวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาทางพระพุทธศาสนาและบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ของคณะสงฆ์ไทย ที่มุ่งขับเคลื่อนพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีกฎหมายรับรอง ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.๒๕๖๒ เมื่อผ่านการฝึกอบรมสามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยได้ที่มีกฎหมายรับรองและสามารถตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนได้ โดยมองว่าทุกพื้นที่ย่อมสามารถเกิดความขัดแย้งได้ ควรต้องหาทางออกอย่างสันติวิธีไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ท่านอธิการบดี มจร จึงมีนโยบายให้วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ของ มจร ทั่วภาคอีสานรวมถึงทั่วประเทศร่วมขับเคลื่อนกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องผ่านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท มุ่งรักษาความสัมพันธ์อันเป็นเป้าหมายสูงสุด



โดยเป็นความร่วมมือของหลักสูตรสันติศึกษา มจร และ วิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พร้อมภาคีเครือข่ายสันติศึกษาในการมุ่งขับเคลื่อนหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๖๒ ภายใต้หลักสูตรการฝึกอบรมของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งกำกับมาตรฐานของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) รุ่น ๑๑ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หลักสูตร ๔๘ ชั่วโมง : ๔ คืน ๕ วัน) อบรมระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๖ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ณ ห้องประชุมโรงแรมนาดี ๑๐ รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมุ่งหวังป้องกันความขัดแย้ง ป้องกันความรุนแรงในชุมชน สังคม พยายามหาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธีในฐานะเพื่อนมนุษย์ ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณาเพื่อเข้ารับการพัฒนาจำนวน ๖๐ รูป/คน โดยแบ่งเป็นพระสงฆ์ จำนวน ๑๗ รูป บุคคลทั่วไป ๔๓ ท่าน



จึงมีผู้สนใจสมัครเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก หลากหลายอาชีพ โดยพระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์, ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร ในฐานะประธานการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้สะท้อนว่า ปัจจุบันมีการขับเคลื่อนศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ภายใต้การกำกับมาตรฐานของสำนักกิจการยุติธรรม และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อการบริการสังคมมุ่งเสริมสร้างสังคมสันติสุขและมีบทบาทในการพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพราะมีการลงนามความร่วมมือ MOU กับสำนักงานศาลยุติธรรม สถาบันพระปกเกล้า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และสำนักกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ทำให้มีผู้สนใจเรียนหลักสูตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ข้อพิพาท พ.ศ.๒๕๖๒ ที่หลักสูตรสันติศึกษา มจร กำกับมาตรฐานการฝึกอบรมด้วยเหตุผล ๖ ประการ ประกอบด้วย



๑) ต้องการไกล่เกลี่ยกับกิเลสตัวเอง เพราะกิเลสรุมเร้าจิตใจจนขัดแย้งในตัวเอง ทำให้เกิดสภาวะเน่าในคุกครุ่นเกาะกัดกินจิตใจ เกิดความแปลกแยกและย้อนแย้งต่อการเลือกและตัดสินใจ การเรียนรู้จะทำให้มีสติ ขันติ สมาธิปัญญา สามารถบริหารจัดการอารมณ์ของตนเอง สื่อสารกับตัวเองได้ดีมากขึ้น



๒) ต้องการช่วยไกล่เกลี่ยคนอื่นที่ขัดแย้งกัน เมื่อจัดการความกับขัดแย้งภายในตนเองได้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะนำทักษะที่ผ่านการฝึกไปเสริมการจัดการความขัดแย้งภายนอก เพื่อช่วยคนอื่นที่กำลังเผชิญหน้ากับความทุกข์ เป็นความสุขที่เห็นคู่ความมีความสุขจากการค้นพบความต้องการแล้วจับมือสร้างอนาคตใหม่ร่วมกัน



๓) ต้องการตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคเอกชน ผลจากการผ่านการอบรมจะทำให้ได้รับใบอนุญาตสามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกลเกลี่ย ทำให้สามารถเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน หรือภาคเอกชนได้ หากคนใดคนหนึ่งที่ร่วมจัดตั้งผ่านหลักสูตรนี้แล้วขึ้นทะเบียนได้ เปิดคลินิกทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยได้



๔) ต้องการเสริมงานประจำที่ทำอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำงานในบริษัท ชุมชน สังคม หรืออื่นใด ล้วนแต่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ความขัดแย้งได้ จึงจำเป็นที่จะเอาแนวคิดหรือทักษะมาใช้ในการบริหารจัดการความต้องการของคนในชุมชนหรือองค์กรนั้นๆ ให้สามารถบริหารได้ผลบริหารคนได้มีประสิทธิภาพ



๕) ต้องการเข้าใจMindsetเกี่ยวกับสันติวิธี คนจำนวนหนึ่งที่มาเรียนมุ่งหมายจะเรียนรู้และเข้าใจคนอื่นๆ ในเชิงจิตวิทยาทางสังคม หรือความต้องการส่วนลึกที่ซ่อนตัวอยู่ภายในใจว่าทำไมจึงคิดต่างทำต่าง หรือทำไมจึงชอบสร้างความขัดแย้งในชุมชน องค์กรและสังคม



๖)ปรารถนาเครือข่ายคนทำงานด้านไกล่เกลี่ย การทำงานไกล่เกลี่ยชุมชน องค์กรและสังคมคนเดียว มักจะประสบภาวะโดดเดี่ยว เพื่อนในรุ่นมีทั้งพระสงฆ์ ผู้บริหาร ทนายความ ครู หมอ ตำรวจ พยาบาล ทหาร นักธุรกิจ นักจิตอาสา วิทยากร โค้ช นักพัฒนาชุมชน ในทุกระดับ รวมถึงการได้เรียนรู้โดยตรงกับวิทยากรที่หลากหลาย ทั้งจากสำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม สถาบันพระปกเกล้า องค์กรสิทธิมนุษยชน จะทำให้มีที่ปรึกษาให้สามารถเชื่อมโยงและทำงานได้รอบคอบรอบด้านมากขึ้น เป็นเหตุผลที่ถูกกระตุ้นจากตัวแปรภายในตัวแปรภายนอกเข้ามาศึกษาเรียนรู้และพัฒนาทักษะการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทซึ่งจัดโดยหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย



ดังนั้น การขยายการพัฒนาและฝึกอบรมผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสู่ภูมิภาคนั้นถือว่าเป็นนโยบายหลักของพระธรรมวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มุ่งหวังนำเครื่องมือการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไปประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรของ มจร เพราะที่ใดมีความขัดแย้งชนิดที่ว่าไม่สามารถคุยกันได้จะนำไปสู่การล่มสลายขององค์กร จึงต้องมีการป้องกันความขัดแย้งและความรุนแรง พร้อมนำเครื่องมือไปบูรณาการกับการเรียนการสอนให้กับนิสิตส่วนภูมิภาคทุกระดับชั้น ที่สำคัญยิ่งมีการขับเคลื่อนศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนเพื่อเป็นการบริการคนในชุมชน สังคม ในรอบวัด รอบมหาวิทยาลัยสงฆ์ของ มจร โดยในรุ่น ๑๑ จบ จะมีผู้ไกล่เกลี่ยที่ผ่านการพัฒนาและฝึกอบรมของ มจร ภายใต้หลักสูตรสันติศึกษา มจร จำนวน ๕๗๔ รูปคน นับว่าเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในการผลิตผู้ไกล่เกลี่ยโดยพุทธสันติวิธีสู่สังคม



สาราณียธรรม

พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร.

เลขาศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร

ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสันติศึกษา มจร

คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาและฝึกอบรมผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีกฎหมายรับรอง

ณ หลักสูตรสันติศึกษา มจร

๕ พฤษภาคม ๒๕๖๖



8 views0 comments
bottom of page