top of page

นิสิต ป.เอก สันติศึกษาขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนวัดสารอดภายใต้กรอบบวรโดยพุทธสันติวิธี

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์, ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มอบหมายให้ พระครูปลัดอดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ, ดร. อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา นำนิสิต ป.เอก หลักสูตรสันติศึกษา ขับเคลื่อนงานวิจัยชุดโครงการการพัฒนาชุมชนเมืองภายใต้กรอบบวรโดยพุทธสันติวิธีของชุมชนวัดสารอด กรุงเทพมหานคร

.

โครงการย่อยของธัญญาภรณ์ โตชำนาญวิชญ์ นิสิต ป.เอก สันติศึกษา ได้พัฒนาในประเด็นการท่องเที่ยว ภายใต้หัวข้อเรื่อง การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนเมืองภายใต้กรอบบวรโดยพุทธสันติวิธีของชุมชนวัดสารอด กรุงเทพมหานคร

.

นิสิตได้ดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนวัดสารอด จนได้กำเนิดเส้นทางและรูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนวัดสารอดซึ่งมีวัดสารอดเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาการท่องเที่ยวดังกล่าว

.

การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนวัดสารอดโดยมีวัดสารอดเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ชุมชนวัดสารอดได้ร่วมกันดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนวัดสารอด ทำให้วัดสารอดมีกิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นไปตามความต้องการจำเป็นของชุมชน เมื่อวัดสารอเป็นวัดเก่าแก่มีต้นทุนในการท่องเที่ยวที่ดีมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวซึ่งชาวชุมชนวัดสารอด มีหลวงพ่อรอดเป็นศูนย์กลางที่พึ่งทางจิตใจ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่อันศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดสารอดเป็นที่เคารพกราบสักการะบูชาของชาวชุมชนวัดสารอด อีกทั้งวัดสารอดมีจุดเด่นที่สำคัญคือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดียปลูกไว้ ณ วัดสารอดหลายสิบปี จนต้นพระศรีมหาโพธิ์มีร่มเงาใหญ่มีกิ่งย้อยโน้มลงสู่ดินอย่างงดงามเป็นที่พึงพอใจของชาวชุมชนวัดสารอด และเป็นที่กล่าวขานกันว่าไม่เคยปรากฎเห็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ได้มีกิ่งก้านสาขาแตกใบให้ร่มเงาเช่นนี้มาก่อน นับเป็นความอัศจรรย์ใจของผู้พบเห็นจำนวนมาก ปัจจุบันกลายเป็นลานโพธิมณฑลมหาสถาน ที่ใช้สำหรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของวัดมากมายเพื่อการเสริมธรรมเสริมปัญญา ต้นโพธิ์จึงเป็นที่มาการกำเนิด การท่องเที่ยวชุมชน #ใบโพธิ์โมเดล

.

ดังนั้น การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนวัดสารอดจึงกำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวเป็น ๙ ใบโพธิ์ เพื่อเป็นเส้นทางกิจกรรมการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวจะได้เที่ยวชมและกราบสักการะหลวงพ่อรอดพร้อมทำกิจกรรมสร้างสรรค์ระหว่างการท่องเที่ยวในวัดสารอดต่อไปดังต่อไปนี้ คือ ใบโพธิ์ที่ ๑ จุดเคาะระฆัง ใบโพธิ์ที่ ๒ จุดรับผ้าขาว ใบโพธิ์ที่ ๔ จุดต่อเทียนชัย ใบโพธิ์ที่ ๓ จุดรับเครื่องสักการะบรมครูบูชาหลวงพ่อรอด ใบโพธิ์ที่ ๕ จุดกราบสักการะ ใบโพธิ์ที่ ๖ จุดดับเทียนชัย ใบโพธิ์ที่ ๗ จุดปริศนาธรรมไก่เจาะกระเปาะไข่ ใบโพธิ์ที่ ๘ จุดเขียนคำอธิษฐานและเขียนบันทึกการเยี่ยมชม ใบโพธิ์ที่ ๙ จุดรับของที่ระลึก

.

นับเป็นงานวิจัยที่มีคุณูปการแก่ชุมชนวัดสารอดอย่างยิ่ง กิจกรรมท่องเที่ยวทำให้ชุมชนได้เข้าถึงและเกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างวัดกับชุมชน เป็นการท่องเที่ยวชุมชนที่มีชาวชุมชนร่วมคิดร่วมทำและร่วมพัฒนาทำให้วัดสารอดกลายเป็นวัดท่องเที่ยวแห่งใหม่ในกรุงเทพมหานครที่เน้นเที่ยวไปเพื่อเสริมธรรมเสริมปัญญาแก่นักท่องเที่ยว


139 views0 comments
bottom of page