
ABOUT US
สันติศึกษาเป็นสาขาวิชาที่สร้างและออกแบบโดยพระพุทธเจ้า โดยพุทธพจน์ที่ว่า "สันติเมว สิกเขยยะ" แปลว่า "พึงศึกษาสันติเท่านั้น"
ฉะนั้น สันติศึกษาจึงมาจาก 2 คำ คือ "สันติ" กับคำว่า "สิกขา" โดยพระองค์ทรงย้ำอีกว่า "สันติมัคคเมว พรูหยะ" แปลว่า "ท่านจงพอกพูนสันติมรรคเท่านั้น" สันติมรรคในประเด็นนี้ก็คือสันติวิธีนั่นเอง การเรียนสันติศึกษา คือการเรียนสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตอกย้ำและเชิญชวนให้ทุกชาวโลกเห็นความสำคัญว่า ถ้าชีวิต ชุมชน สังคม และโลกจะรอดต้องสันติ และสันติวิธีเท่านั้น การเรียนสันติศึกษาจึงเป็นการเรียนรู้ชีวิตและลมหายใจของพระพุทธเจ้าโดยตรง
สันติศึกษาจึงเป็นได้มากกว่าวิชาชีพ เพราะเน้นวิชาชีวิต เน้นเครื่องมือในการจัดการชีวิตตน ชีวิตคน และธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันอย่างประสมกลมเกลียว ผ่านกระบวนการจัดการ ความขัดแย้งภายในใจ จนเกิดสันติภาพภายใน แล้วออกไปจัดการความขัดแย้งจนเกิดสันติภาพ
สันติศึกษาคือ

สันติศึกษาเป็นการศึกษา



สันติวิถีใหม่ พัฒนาจิตใจ และสังคม เอาธรรมที่ทำ มาทำหลักสูตรให้ลูกศิษย์เรียนรู้ หลักสูตรสันติศึกษา มจร มิได้จัดหลักสูตรให้นิสิตเรียนเพื่อรู้ หรือ Learn about แบบ Learning to know เฉพาะหลักธรรม หรือทฤษฏีเกี่ยวกับสันติภาพเท่านั้น หากแต่กระตุ้นให้ผู้เรียนเอา "ธรรมะไปทำ" หรือเอาทฤษฏีออกไปพิสูจน์ทราบ (Learning to do) เพื่อจะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (Learning to be) และอยู่ร่วมกับมนุษย์และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างสันติสุข (Learning to live together) สันติวิถีใหม่ เป็นการปรับดุลชีวิตใหม่ สร้างอาชีพ สิ่งแวดล้อมผ่านโครงการกสิกรรมธรรมชาติ โคกหนองนาสันติศึกษาโมเดล สร้างชุมชนและสังคมสันติสุข ภายใต้บริบทโลกใหม่ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนฯ
พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์
(หรรษา ธมฺมหาโส), ศ.ดร.
ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา


เพื่อพัฒนาให้สันติเกิดขึ้นในจิตใจและสังคม
ผ่านกระบวนการศึกษาและพัฒนาใน 3 ด้าน ที่เรียกว่า “ไตรสิกขา”

ศึกษาเพื่อพัฒนาพฤติกรรม
ศึกษาเพื่อพัฒนาพฤติกรรมอันได้แก่กายและวาจาปกติ หนักแน่นไม่หวั่นไหวดุจศิลา (อธิสีลสิกขา) มีศักยภาพ และทักษะในการเสริมสร้างสังคมสันติสุข ทั้งการสื่อสาร การเป็นผู้นำ การไกล่เกลี่ย สมานใจคน การเป็นนักจิตอาสาช่วยเหลือคนอื่น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทีมงานเป็นทีม และการออกแบบและสร้างกระบวนการยุติธรรมทางสังคม

ศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจ
ศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจให้สงบเย็น จนเกิดการตื่นรู้ภายในแล้วออกไปสร้างสังคมแห่งการตื่นรู้ (อธิสีลสิกขา) สันติศึกษาจึงมีสติศึกษาเป็นฐาน ผ่านการเรียนรายวิชาสติภาวนาสำหรับวิศวกรสันติภาพ วิชาสันติภาวนาเสวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิสิตต้องผ่านการทำสติภาวนาเป็นระยะเวลา 45 วันของหลักสูตร

ศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญา
ศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญา เพื่อสร้าง Mindset และพัฒนาระบบคิดโดยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์และมุมมองใหม่ (Paradigm) เพื่อให้สามารถบ่มเพาะปัญญาสันติ แล้วออกไปรับใช้ผู้อื่นด้วยการเสริมสร้างชุมชนและสังคมสันติสุข (Cultivating Wisdom Serving Peace) ผ่านการเรียนรู้ในรายวิชาพุทธสันติวิธี แนวคิดและทฤษฏีด้านสันติศึกษา และวิจัยชั้นสูงสำหรับการสร้างสันติภาพ

VISION
เป้าหมายของสันติศึกษา
มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็น “วิศวกรสันติภาพ” ตามหลักภาวนา 4


สร้างกายภาพ ได้แก่เห็นคุณค่าและรักษาฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ตระหนักรู้และมีทักษะการพัฒนาอาชีพการเป็นอยู่ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมีความสุข
สร้างพฤติภาพ อันได้แก่การมีพฤติกรรมที่เอื้อต่อการอยู่กับผู้อื่นในชุมชน สังคม เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม อย่างสันติสุข รักและไม่เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ สัตว์ สิ่งแวดล้อม ใส่ใจดูแลชุมชนและสังคม เป็นพลเมืองโลกที่ดี
สร้างจิตภาพ อันได้แก่ การเป็นคนที่มีจิตใจที่ดีงามพร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ มีสติตื่นรู้ เพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งการตื่นรู้ จิตใจมั่นคงพร้อมที่จะเผชิญหน้า และจัดการกับสถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรงอย่างมีสติ ขันติ และสันติ
สร้างปัญญาภาพ อันได้แก่ การมีปัญญาเพื่อสันภาพ มีทักษะสามารนำเสนอแผนที่ความขัดแย้ง แล้วออกแบบกระบวนการสร้างสันติภาพในครอบครัว ชุมชน องค์กรและสังคม เพื่อให้กลุ่มคนต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
สันติศึกษาจึงเป็นได้มากกว่าวิชาชีพ เพราะเน้นวิชาชีวิต เน้นเครื่องมือในการจัดการชีวิตตน ชีวิตคน และธรรมชาติ
สิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกันอย่างประสมกลมเกลียว ผ่านกระบวนการจัดการความขัดแย้งภายในใจจนเกิดสันติภาพภายใน แล้วออกไปจัดการความขัดแย้งภายนอกจนเกิด สันติภาพภายนอก
สติ ขันติ สันติ : ไม่มีวันที่สันติเกิดขึ้นได้ หากไม่มีคำว่า สติ และขันติ ทั้งสามคำนี้ มีปรากฏอยู่ในบทโอวาทปาติโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศหลักการ 3 อุดมการณ์ วิธีการ 6 หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ 3 คำนี้ พระพุทธศาสนาจึงได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งสติ ศาสนาแห่งขันติ และศาสนาแห่งสันติ ฉะนั้น จิตวิญญาณที่เป็นแก่นและแกน (Core Values) ของสันติศึกษาจึงเน้นพัฒนาสามคำนี้ให้อยู่ในวิถีชีวิตของวิศวกรสันติภาพ
กล่าวโดยสรุป สันติศึกษาคือการศึกษาเพื่อถอดบทเรียนชีวิตและลมหายใจของพระพุทธเจ้า ที่ครั้งหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเคยสนใจแต่ชีวิตของตัวเอง แต่วันหนึ่งได้ตัดสินใจปล่อยวางความสุขส่วนตนออกไปค้นหาความสุขที่แท้จริง ในที่สุดจึงพบว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสันติไม่มี” จึงได้นำพลังแห่งสันติสุขไปช่วยเหลือชาวโลกตลอดระเวลา 45 ปี
สิ่งสำคัญของการเรียนรู้สันติศึกษา คือ “สันติมรรค” หรือ “สันติวิธี” อันเป็นเครืองมือที่พระพุทธเจ้าได้ออกแบบและนำไปเสริมสร้างชีวิต ชุมชน และสังคมสันติสุข การเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรง ท่ามกลางความต้องการ ภาษา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ค่านิยม ความเชื่อ และโครงสร้างที่หลากหลาย พระองค์มีหลักการ วิธีการ กระบวนการและขั้นตอนในการสร้างสันติภาพอย่างไร
การที่กลุ่มคนจำนวนมากสนใจและตัดสินใจมาเรียนเรียนรู้สาขาสันติศึกษา ก็เพราะต้องการคำตอบเหล่านี้
คำตอบที่สามารถนำไปใช้เป็นบทเรียนที่ปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทการดำเนินชีวิและการทำงานรับใช้ผู้อื่น
และ ทั้งมุ่งหวังที่จะได้มือที่ผ่านการออกแบบและปรับรูปที่เข้ากับวิถีสังคมยุคปกติใหม่ (New Normal)
ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์
(หรรษา ธมฺมหาโส), ศ.ดร.
ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฏีบัณฑิต สาขาสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)



เลขที่ 79 หมู่ที่ 1 ต. ลำไทร อ. วังน้อย จ. พระนครศรีอยุธยา 13170
โทรศัพท์ : 063-561-5326, 064-915-2265 โทรสาร : 035-248-000 ต่อ 8528
Email : peace@mcu.ac.th
หลักสูตรสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บริการออนไลน์
หอสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ
บทความวิชาการ
วิดีโอ
ดาวน์โหลด
ลิ้งค์สถาบัน
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
สถาบันพระปกเกล้า
สำนักงานศาลยุติธรรม
วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ
กระทรวง อว.
บัณฑิตวิทยาลัย มจร.
ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร
แฟนเพจสันติศึกษา