top of page

เปิดทางเมล็ดพันธุ์’สันติวิธี’ปิดวิถีความรุนแรง!

ในฐานะ “พลเมืองคนหนึ่ง” นั่งมองสถานการณ์ “บ้านเมือง” บ้านเมืองที่ตัดสินใจใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาเป็นเครื่องมือในการบริหารบ้านเมืองมาตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ บ้านเมืองที่ไม่ใช่สมบัติของผู้หนึ่งผู้ใด หากเป็นสมบัติของประชาชนที่เป็นเจ้าของอธิปไตย โดยไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดเข้ามาอ้างสิทธิ์ หรือผูกขาดบ้านเมืองเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว

ในสังคมประชาธิปไตยนั้น ความขัดแย้งและเห็นต่างทางความคิด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ น่ารังเกียจ และน่าสะพรึงกลัว หากแต่ความขัด หรือแย้งนับเป็นเสน่ห์ และความงดงามต่อการอยู่ร่วมกันของประชาชนในระบอบนี้ ดังนั้น ต้องเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคน หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และแสดงออกในทุกจังหวะ และโอกาสที่เหมาะสม การกระทำการ หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อปิดพื้นที่ไม่ให้คู่กรณีได้ “ระบายอารมณ์และความรู้สึก” นั้น จะนำไปสู่ “การระเบิดครั้งใหญ่” อันเกิดจากแรงอัดอย่างน่าสะพรึงกลัว!!!


การเปิดพื้นที่ดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นการเปิดทางให้สันติวิธีได้ทำงานภายใต้วิถีประชาธิปไตย เพราะสันติวิธี ไม่ว่าจะเป็นสันติวิธีชนิดเรียกร้องความต้องการ (Non-Violent Action) หรือสันติวิธีแบบการจัดการความขัดแย้งโดยการเจรจา และการใช้กฎหมาย (Peaceful Means) เป็นต้นนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนวิถีประชาธิปไตยได้อย่างทรงคุณค่า และมีความหมาย ฉะนั้น การที่เราช่วยเปิดพื้นที่ให้วัฒนธรรมสันติวิธีทำงานได้มาก หรือเจริญงอกงามมากเพียงใด ยิ่งจะสะท้อนวิถีประชาธิปไตยที่เจริญเติบโตอย่างมีวุฒิภาวะ และสมบูรณ์ได้มากเพียงนั้น

ในทางกลับกัน สังคมประชาธิปไตยจะต้องช่วยกันปิดพื้นที่ไม่ให้ “ความรุนแรง” ได้มีลมหายใจ และมีโอกาสทำงาน อีกทั้งต้องไม่สนับสนุน หรือเปิดพื้นที่ให้ใคร หรือกลุ่มบุคคลใดได้ใช้ความรุนแรงเข้าไปตัดสินใจ หรือใช้แก้ปัญหา เพราะจากประสบการณ์ของประเทศไทย หรือของโลก เช่น สงครามอีรัก ไม่เคยมีการแก้ปัญหาครั้งใดประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนและมั่นคง หากใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการเข้าไปแก้ไขปัญหา เพราะผลที่ได้รับตามมาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวคือความสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างประมาณค่ามิได้

ถึงกระนั้น จากหลายสมรภูมิรบ มักจะมีทฤษฏีที่ว่า “ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะบวก หรือลบ ชั่วคราวหรือถาวร จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงมาเป็นเครื่องมือในการต่อรอง และแก้ปัญหา” แต่แนวคิดดังกล่าว มักจะทำให้เกิดคำถามเช่นกันว่า (๑) ในระยะยาวแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนจริงหรือ?!!? หากแก้ได้จริง!!! เราใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองมาจำนวนกี่ครั้งแล้ว (๒) เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ในอนาคตเราจะไม่กลับมาใช้ความรุนแรงอีก อีกทั้งจะไม่ทำให้เราเสพติดความรุนแรง เพราะคุ้นเคยต่อการใช้ความรุนแรง (๓) การสูญเสียอันเนื่องมาจากความรุนแรงที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นการสูญเสียน้อยหรือมาก หากเลือกได้ ทำไมจึงไม่เลือกช่องทางที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียทั้งชีวิต เลือดเนื้อ และทรัพย์สิน

จากแนวทางนี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องเปิดทางให้สันติวิธีว่าด้วยการเรียกร้องความต้องการทำงานต่อไป พร้อมกันนี้ ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกันในการร่วมกันปฏิเสธทุกการกระทำ หรือทุกเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความรุนแรงและสูญเสีย และหากจะให้เกิดกระบวนการเจรจาและพูดคุยอย่างสันติวิธีเพื่อหาทางออกนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระมัดระวังท่าทีที่จะนำไปสู่การยั่วยุ เยาะเย้ย และถากถางซึ่งกัน และกันเกี่ยวกับวิธีคิด และกิจกรรมการแสดงออกในลักษณะต่างๆ
ในทางกลับกัน ควรเปิดใจในการศึกษา เรียนรู้ และทำความเข้าใจหลักการ และเหตุผลของฝ่ายต่างๆ อย่างมีขันติธรรม เพราะการเปิดใจ และรับฟังอย่างมีสตินั้น จะทำให้กลุ่มคนต่างๆ ในสังคมได้ศึกษา เรียนรู้ และเข้าใจวิธีคิด และวิถีปฏิบัติของกันและกันมากยิ่งขึ้น เมื่อนั้น สังคมย่อมตัดสินใจเลือกได้เองว่า “ท่าทีและมุมมองของใคร หรือกลุ่มใดเป็นบุญหรือบาป!!! เป็นสวรรค์หรือนรก!!!” โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปช่วยเติมเชื้อไฟอันจะก่อให้เกิดความเกลียดชังในแง่มุมอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะ “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม!!!”
18 views0 comments

Comentários


bottom of page