top of page

“เจ้าคุณหรรษา” พระนักวิชาการชื่อดังแนะ “ร่าง พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับศาสนา” ควรดึงแกนนำ 5 ศาสนาที่รัฐรับรองเข้ามาร่วม

วันที่ 5 มีนาคม 2567 พระเมธีวัชรบัณฑิต  หรือ “เจ้าคุณหรรษา” ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้โพสต์เฟชบุ๊คส่วนตัว “ธรรมหรรษา DhammaHansa “ ได้พูดถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ..ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ การลบหลู่ ดูหมิ่น หรือเหยียดหยามต่อชื่อของพระเจ้าศาสนาของศาสนา ภรรรยา บรรดาสาวก ผู้นำศาสนา คำสอน ความศรัทธา ปรัชญาการใช้ชีวิต หรือความรู้สึกของผู้นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ฯลฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้



“รัฐกับศาสนา” รัฐควรจะออกกฏหมายเพื่อปกป้องศาสนาอย่างเดียว หรือจะให้ศาสนาอำนวยความผาสุกแก่พลเมืองไทย

รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 67 ได้ตราเอาไว้ว่า รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ค่อนข้างจะชัดเจนว่า รัฐมุ่งให้ศาสนา หรือองค์กรศาสนาทำหน้าที่อำนวยประโยชน์แก่ประชาชน โดยชี้ชัดว่าให้รัฐส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจ และปัญญา ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ย้ำว่า รัฐต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการให้พุทธศาสนิกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางมาตรการ หรือกลไกในการป้องกันด้วย

ส่วนตัวมองว่า ถ้าจะออกมาตรการในการคุ้มครองและป้องกัน โดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับศาสนาในประเทศไทย โดยเฉพาะ 5 ศาสนาหลักที่รัฐบาลให้การรับรองนั้น จึงเห็นสมควรให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจาก 5 ศาสนาหลักมาปรึกษาหารือกัน เพราะเราต้องไม่ลืมว่า ใน 5 ศาสนาหลักนั้น มีทั้งศาสนาแบบอเทวนิยมที่ไม่นับถือพระเจ้า คือพระพุทธศาสนาหนึ่งเดียวในประเทศไทย กับศาสนาอื่นๆ อีก 4 ศาสนาที่เป็นศาสนาแบบเทวนิยมที่นับถือพระเจ้า

รายละเอียดเหล่านี้ มีความหลากหลายและซับซ้อนค่อนข้างมาก และการที่จะแก้ไขเพิ่มเติมในกฏหมายอาญาในประเด็นดังกล่าว จึงจำเป็นต้องศึกษารายละเอียด และที่สำคัญจะต้องไม่แก้ด้วยอารมณ์และความรู้สึก รวมถึงความต้องการจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้วตีรวบ จำกัดกรอบให้ทุกคนเห็นด้วย หรือเอาด้วยกับเราแต่เพียงฝ่ายเดียว การดำเนินการเช่นนี้ ย่อมมิสามารถออกกฏหมายเพื่อแก้ไขได้อย่างตรงจุดและครอบคลุมรอบด้าน

ในประเด็นนี้ รัฐเองจำเป็นต้องใช้ความละเอียดอ่อน วิเคราะห์บริบท และผลกระทบที่จะต้องมาอย่างรอบด้าน ครอบคลุม และรัดกุม โดยมิให้กลุ่มบุคคลใด โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองมากระทำการอันใดที่จะทบต่อบรรยากาศการอยู่ร่วมกันของพี่น้องชาวไทยที่มีความเชื่อและความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม

หาไม่แล้ว ความหวังดีของบางกลุ่มที่มุ่งจะปกป้องอุดมการณ์ ศาสนา และความเชื่อของตนเอง ก็จะกลายเป็นฝันร่ายของกลุ่มอื่นๆ เมื่อนั้น ก็จะทำให้สูญเสียบรรยากาศการอยู่ร่วมกันของพลเมืองไทย จนนำไปส่ความหลาดระแวง และหวาดกลัวซึ่งกันและกัน และก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันและกันทั้งในระยะสั้น และระยะยาวในที่สุด

คำถามคือ รัฐจะทางออกในประเด็นนี้อย่างไร เชื่อเองว่าซึ่งมาจากพรรคการเมืองกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ คงจะมีแนวทางที่เหมาะสมในประเด็นเหล่านี้อยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุดถ้าประเด็นเหล่านี้ ออกมาจากฐานคิดและความเชื่อของผู้นำองค์กรสูงสุดของแต่ละศาสนา ทั้ง 5 ศาสนาที่รัฐให้การรับรอง โดยมีรัฐสร้างเวทีพูดคุย เชื่อว่าแม้จะใช้เวลาในการแสวงแนวร่วม แต่เชื่อว่าสังคมไทยในภาพรวมก็จะเกิดบรรยากาศแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยมีสถาบันศาสนาเป็นรากฐานสำคัญในการเสริมสร้างสังคมสันติสุข


แหล่งข่าวจากเว็บไซต์ https://thebuddh.com/?p=77963

90 views0 comments

Comments


bottom of page