สัมภาษณ์ผู้สมัครอบรมหลักสูตรพุทธกสิกรรมโคกหนองนาเพื่อการพัฒนาสันติภาพชุมชน รุ่น ๑

.
#ศาสตร์วิถีโลก ก็มีปรมาจารย์ทางโลกมาสอน
#ศาสตร์วิถีธรรม ก็มีศาสตราจารย์ทางธรรมมาสอน
ทั้งสองศาสตร์จะประสานกันอย่างลงตัวเหมือนกายกับใจที่อาศัยกันดำรงอยู่เป็นชีวิต
.
หลักสูตรสันติศึกษาร่วมกับมูลนิธิโพลวพลือ (ทางสว่าง) จัดหลักสูตรพุทธกสิกรรมโคกหนองนาเพื่อการพัฒนาสันติภาพชุมชนอย่างยั่งยืน รุ่น ๑
.
พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์, ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสันติศึกษา ร่วมกับ พระครูปลัดอดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ, ดร. ประธานมูลนิธิโพลวพลือ (ทางสว่าง) พร้อมด้วยคณาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรพุทธกสิกรรมโคกหนองนาเพื่อการพัฒนาสันติภาพชุมชนอย่างยั่งยืน เปิดอบรมรุ่นที่ ๑ วันที่ ๑๑ - ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ณ โคกหนองนาสันติศึกษา อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ
.
วันนี้ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ได้รับความเมตตาจาก หลวงพ่อสังคม ธนปญฺโญ, ดร. ผู้เชี่ยวชาญโคกหนองนาธนาคารน้ำโมเดล และ พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสันติศึกษา เป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกชาวกสิกรผู้สนใจเข้าฝึกอบรม

การสัมภาษณ์เป็นไปอย่างเข้มข้นเพื่อคัดเลือกบุคคลเฉพาะเจาะจงที่มุ่งมั่นตั้งใจจริงและมีที่ดินพร้อมขุด และชาวกสิกรผู้ทำโคกหนองนาอยู่แล้ว สนใจมาอบรมเพื่อพัฒนาทักษะนำองค์ความรู้ไปพัฒนาพื้นที่ของตนเอง
.
ทั้งนี้ มีผู้สมัครจำนวนวนมาก เกือบร้อยรูป/คน คณะกรรมการต้องคัดเลือกเหลือเพียง 50 รูป/คน เท่านั้น

จากการสัมภาษณ์วันนี้ พบว่า ได้มีชาวกสิกรอำเภอภูสิงห์ อำเภอปรางค์กู่ อำเภอขุขันธ์ หลายท่านสมัครเข้ามาพร้อมกับได้เดินทางจากศรีสะเกษเพื่อสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
.
นับเป็นชาวกสิกรที่ตั้งใจมาก และเป็นความหวังของชุมชนที่จะมาอบรมพัฒนาองค์ความรู้ด้านพุทธกสิกรรมโคกหนองนาแล้วนำกลับไปใช้พัฒนาพื้นที่ของตนเองและจะกลายเป็นต้นแบบ กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ต่อไป
แน่นอนว่า พุทธกสิกรรมโคกหนองนาฯ ต้องแตกต่างจากทั่วไป เพราะการที่พระพาทำโคกหนองนา ก็ใช่ว่าพระจะขุดดินดำนาดายหญ้าแบบวิถีโลก พระพาทำนาต้องพาทำนาแบบพระพุทธเจ้า เป็นการพาทำเอาที่เอาธรรมไปทำในนา ทำให้ชาวนามีความสุขในการทำนาอันเป็นอาชีพชั้นสูง
.
แม้พระพุทธเจ้าก็ยังยืนยันว่าพระองค์คือชาวนา และทำนา ผลการทำนาของพระองค์คืออมตะ
.
ดังนั้นบทบาทพระพาชาวบ้านทำนาคือการเอาธรรมมาลงสู่การปฏิบัติธรรมในนาในไร่
.
ส่วนองค์ความรู้กสิกรรมชาวนาย่อมรู้ดี ชาวบ้านย่อมชำนาญกว่าพระเณร ก็ให้ผู้เชี่ยวชาญสอนทางโลก ส่วนพระพาทำนาก็สอนชาวนาทางธรรม
.
ชาวนา ชาวกสิกรมีธรรม เอาธรรมไปทำในนาในไร่ก็มีความสุข เพราะชาวนามีปัญญาในการทำนาทำไร่
.
คันไถโมเดล นำพระสูตรที่พระจะสอนทำนาตามแบบพระพุทธเจ้า สอนเกี่ยวข้องกับชาวกสิกร ไม่ว่าจะเป็น กสิภารทวาชสูตร วนโรปสูตร อัคคัญสูตร เป็นต้น
.
คันไถ คือ สติปัญญาเพื่อพัฒนาชีวิต
.
หลักสูตรนี้ประสานความรู้ระหว่างศาสตร์สมัยใหม่กับพุทธศาสตร์ตามหลักพุทธสันติวิธีเข้าด้วยกันกลายเป็น พุทธกสิกรรมโคกหนองนาเพื่อการพัฒนาสันติภาพชุมชนอย่างยั่งยืน
.
ศาสตร์วิถีโลก ก็มีปรมาจารย์ทางโลกมาสอน
ศาสตร์วิถีธรรม ก็มีศาสตราจารย์ทางธรรมมาสอน
ทั้งสองศาสตร์จะประสานกันอย่างลงตัวเหมือนกายกับใจที่อาศัยกันดำรงอยู่เป็นชีวิต