ยกระดับการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรสันติศึกษา ป.เอก

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์, ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสันติศึกษา มุ่งพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาเอก โดยได้เชิญ ผศ.ปราณี พรรณวิเชียร บรรยายให้ความรู้เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการศึกษา ประจำปี 2565 เพื่อยกระดับการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรสันติศึกษาให้สอดรับกับผลลัพธ์การเรียนรู้ตามเกณฑ์มาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2565

เพราะถึงเวลาแล้วที่จะต้องพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาเอก แม้มีพัฒนาการพัฒนามาเป็นระยะจนผลิตบัณฑิตถึงรุ่นที่ 7 แล้วก็ตาม แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปจึงจำเป็นตั้งคณะกรรมพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรสันติศึกษาขึ้นมาใหม่ โดยมี พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์, ศ.ดร. เป็นประธานกรรมการ และมีพระครูปลัดอดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ, ดร. เป็นเลขานุการ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาเอก ต้องลงลึกทวบทวนการจัดการศึกษาเพื่อให้เป็นไปตามผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับปริญญาเอกที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของหลักสูตรสันติศึกษา ประกอบอย่างน้อย 4 ด้าน ตามประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่อง รายละเอียดผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๕ ดังต่อไปนี้
.
1. ความรู้ (knowledge) สิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้า หรือประสบการณ์ที่เกิดจากหลักสูตรสันติศึกษาซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและเพียงพอต่อการปฏิบัติหรือต่อยอดความรู้ในการประกอบอาชีพ การดำรงชีวิต อยู่ร่วมกันในสังคม และพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับการดำรงชีวิตในยุคดิจิทัล)
.
2. ทักษะ (Skills) คือ ความสามารถที่เกิดจากการเรียนรู้ ฝึกฝนปฏิบัติให้เกิดความคล่องแคล้ว ว่องไว และชำนาญ เพื่อพัฒนางานพัฒนาวิชาชีพหรือวิชาการ พัฒนาตนและพัฒนาสังคม สำหรับการดำรงชีวิตในยุคดิจิทัล)
.
3. จริยธรรม (Ethics) หมายถึง พฤติกรรม หรือการกระทำระดับบุคคลที่สะท้อนถึงความเป็นผู้มีคุณธรรม ศีลธรรมและจรรยาบรรณ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและส่วนตน ทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้อื่น
.
4. ลักษณะบุคคล (Character) บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และค่านิยมที่สะท้อนคุณลักษณะของผู้จบหลักสูตรสันติศึกษา โดยพัฒนาผ่านการเรียนรู้และผ่านการฝึกประสบการณ์จากหลักสูตรสันติศึกษาระดับปริญญาเอก

สำหรับขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสันติศึกษา ขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งไม่ทำไม่ได้โดยเด็ดขาด คือ การเริ่มสัมภาษณ์หรือการสำรวจความคิดเห็นจากศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์อนาคต รวมถึงผู้ใช้บัณฑิต ว่ามีความเข้าใจ ความคาดหวังเกี่ยวกับหลักสูตรสันติศึกษาอย่างไร
.
เมื่อคณะกรรมการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรสันติศึกษารวบรวมข้อมูลที่ได้จากการทำโปรแกรม VOC จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง เพื่อสะท้อนประสิทธิภาพของหลักสูตรต่อไป
.
ดังนั้น การฟังที่ดี ด้วยความตั้งใจ เข้าใจ ลึกซึ้ง จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรสันติศึกษา แล้วนำหลักสูตรมาใช้ จากนี้ 1 ปี ที่เราจะพัฒนาหลักสูตรสันติศึกษาเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้กับนิสิตที่ตัดสินใจเข้ามาศึกษาหลักสูตรสันติศึกษาระดับปริญญาเอกต่อไป